Leaderboard Ad

อุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ

0

ความเป็นมาของอุทยาน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 4 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมตราฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2539 พื้นที่ของวิทยาเขตตั้งอยู่บนพื้นที่ 4,000 ไร่ ส่วนหนึ่งประกอบด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ กว่า 1,000 ไร่ และด้วยตระหนักในพระอัฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ทรงสนพระทัยในทฤษฏีและหลักการทางธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัสว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่จงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่าง ฉันก็จะสร้างป่า”

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้กำหนดให้พื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อคงสภาพป่าไว้ รวมทั้งได้น้อมนำเอาทฤษฏีของพระองค์ท่านมาปฏิบัติ และนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติและศึกษาวิจัยมาถ่ายทอดผ่านกระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้นิสิต บุคลากร ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบและขยายผลต่อไป
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษาครบรอบ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้สร้างอุทยานธรรมชาติขึ้นโดยใช้พื้นที่ป่าเต็งรังที่สงวนไว้ของวิทยาเขตและได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2547 ว่า “อุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา บรมราชินีนาถ” (72ndYear HM Queen Sirikit Chalermprakiat Dry Dipterrocarp Park)

และในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จเปิดอุทยานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงมุ่งมั่นที่จะให้ อุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ ได้เป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ใน สาขาวิชาต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนและส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและร่วมกันรักษาระบบนิเวศของท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป

ป่าเต็งรัง (Dipterocarp forest)

ป่าเต็งรัง ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ป่าโคก” หรือ”ป่าแดง”เนื่องจากสภาพดินเป็นดินลูกรังสีแดง ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกว่า”ป่าแพะ” เนื่องจากตามพื้นป่าจะมีกรวดขี้หนูคล้ายขี้แพะป่าเต็งรังเป็นป่าประเภทป่าผลัดใบ ประกอบด้วยต้นไม้ผลัดใบขนาดกลาง และขนาดเล็ก ขึ้นห่างๆ กระจัดกระจายไม่ค่อยแน่นทึบ มักพบป่าประเภทนี้ในพื้นที่ที่เป็นที่ราบต่ำ และพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 900 – 1,200 มิลลิเมตรต่อปี และดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายหรือดินลูกรัง กักเก็บน้ำได้น้อย

ไม้หลักที่บ่งชี้ว่าเป็นป่าเต็งรัง คือ ไม้ 5 ชนิด ในกลุ่ม Deciduous Dipterocarp ได้แก่ เต็ง (Shorea obtusa) รัง (S.siamensis) เหียง (D. obtusifolius) พลวง (D. tuberculatus) และยางกราด (D. intricatus) ไม้วงศ์ยางมีเนื้อใบที่หนา และผลของไม้ตระกูลยางมีปีกยาว 2 ปีก ตระกูลเต็งรังมี 5 ปีก ความยาวของปีก และรูปร่างของผลแตกต่างกันตามชนิดพรรณไม้
ประโยชน์ของป่าเต็งรัง มีทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประโยชน์ทางตรงเป็นการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ป่าเต็งรังมีพรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง เหนียวทนทาน จึงนำมาใช้ในงานก่อสร้าง เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ทำหมอนรองรางรถไฟ เป็นต้น การใช้ประโยชน์จากใบ นำมาเย็บเป็นตับใช้ มุงหลังคา ทำฝา ห่อของ เป็นต้น จากผลและดอก นำมารับประทานได้ เช่น มะขามป้อม กระบก และมะกอกป่า เป็นต้น
ประโยชน์ทางอ้อม ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ช่วยควบคุมสภาวะอากาศ ป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ยังเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในปริมาณมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปริมาณก๊าซชนิดนี้ในชั้นบรรยากาศ ที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก

ข้อมูลสัตว์ป่าในอุทยาน

จากการสำรวจสัตว์ป่าในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ พบชนิดของสัตว์ 4 กลุ่ม ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ทั้งสิ้น 16 อันดับ 40 วงศ์ จำนวน 112 ชนิด ส่วนใหญ่ (70.54%) เป็นสัตว์กลุ่มนก จำนวน 79 ชนิด รองลงไปได้แก่สัตว์เลื้อยคลาน 17 ชนิด(15.18 %)สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก13 ชนิด (11.61%) และน้อยที่สุดคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิด (2.68%)โดยพบว่ามีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) 2 ชนิดคือ นกปรอดหัวโขนและ อึ่ง
อ่างก้นขีด มีสถานภาพเป็นกังวลน้อย(Least Concern)จำนวน 27 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสถานภาพข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Deficient) 1 ชนิดคือ กบหนอง สำหรับสถานภาพตามกฎหมาย พบว่านก 71 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีเพียง 8 ชนิดเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่วนสัตว์เลื้อยคลาน มีเพียง 5 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจากจำนวนทั้งหมด 17 ชนิด ส่วนทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่มีชนิดใด
เลยที่มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ประทีป, 2549)

ข้อมูลพันธุ์ไม้ในอุทยาน

การจัดทำฐานข้อมูล GIS ด้านพรรณไม้ในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรัง 72 พรรษา มหาราชินี ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จำนวน 931 ไร่ เลือกทำเฉพาะต้นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 12 ซม. ขึ้นไป ที่ระดับความสูงจากพื้นประมาณ 1.30 เมตร ซึ่งสามารถสำรวจได้ทั้งหมดจำนวน 41,832 ต้น แยกตามวงศ์ได้ 37 วงศ์ ตามอันดับได้ 40 อันดับ และตามชนิดได้ 118 ชนิด มีต้นไม้หลักของป่าคือ ต้นรังจำนวน 16,939 ต้น (40.5%) ต้นเต็งจำนวน 5,627 ต้น (13.5%) ต้นพลวง 1,372 ต้น (3.3%) อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae รวมต้นไม้หลักทั้งหมดจำนวน 23,938 ต้น (57.3%) สำหรับต้นประกอบของป่าที่มีจำนวนเกินพันต้น ได้แก่ ต้นขว้าว ต้นรกฟ้า ต้นเหมือดโลด ต้นรักใหญ่ และต้นแดง จำนวนรวมกัน 8,040 ต้น (19.22%) ที่เหลือเป็นต้นประกอบอื่นๆที่แต่ละชนิดมีจำนวนไม่ถึงพันต้น ฐานข้อมูลนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาระบบนิเวศและการอนุรักษ์ป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นจุดมาตรฐานในการติดตามการเปลี่ยนแปลงชนิดของพรรณไม้และสภาพป่าเต็งรัง (อรสาและคณะ,2549)

แชร์ :

ข้อมูลผู้เขียน