Leaderboard Ad

ลานอนุสรณ์เครื่องบินเชียงเครือ

0

พื้นที่สนามบินเก่าเชียงเครือในอดีตได้ถูกพัฒนาเพื่อใช้รองรับภารกิจอื่นนอกเหนือจากเป็นพื้นที่สนามบินตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม เช่น พื้นที่ผลิตพืชอาหารสัตว์ โครงการอีสานเขียว เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่สนามบินเก่าเชียงเครือ โดยความอนุเคราะห์จากกองทัพอากาศได้มอบพื้นที่สนามบินแห่งนี้ให้แก่กรมธนารักษ์แล้ว หลังจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นสถาบันการศึกษา คือ เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ. 2539 สำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อตั้งสถาบันการศึกษาแก่ประชาชนชาวจังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ภายใต้การนำของผู้อำนวยการโครงการจัดตั้ง (รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้ดำเนินภารกิจด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีจนถึงปัจจุบัน และผู้บัญชาการกองทัพอากาศได้ตระหนักถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ของชาติในด้านการรักษาความมั่นคง จึงมอบหมายให้หน่วยงานภายในกองทัพอากาศ นำเครื่องบินแบบ OV-10 ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน นำมาปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ แล้วเคลื่อนย้ายเพื่อนำมาจัดแสดงเป็นอนุสรณ์เครื่องบินที่เคยใช้ประจำการในอดีต ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของพื้นที่สนามบินเชียงเครือแห่งนี้ โดย มก.ฉกส. ได้ดำเนินการจัดสร้างลานอนุสรณ์เครื่องบินเชียงเครือในปี พ.ศ. 2549 งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 570,000 บาท และได้ทำพิธีเปิดป้ายลานอนุสรณ์เครื่องบินเชียงเครือ เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 15.09 น.

เครื่องบินโจมตีแบบที่ 5 (บ.จ. 5) OV – 10 C “Bronco”

เครื่องบินโจมตีแบบที่ 5 (บ.จ. 5) OV – 10 C “Bronco” เป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ลาดตระเวนติดอาวุธ 2 ที่นั่ง เรียงติดกัน ประจำการในกองทัพอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2514 – 2547 เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจ ป้องกันประเทศและใช้โจมตีปราบปรามผู้ก่อการร้ายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เคยประจำการในกองบิน 2 กองบิน 4 กองบิน 41 กองบิน 71
OV – 10 C “Bronco” ผลิตโดย North American Aircraft Operation /Rockwell International Corporation ประเทศสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือ Boeing) ใช้เครื่องยนต์ T67-G-416-/417 ชนิด Turboprop จำนวนสองเครื่อง ขนาดของเครื่องบินมีความกว้างกางปีก 12.19 เมตร ยาว 12.67 เมตร สูง 4.62 เมตร น้ำหนักตัวเปล่า 3,261 กิโลกรัม น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 6,552 กิโลกรัม มีความเร็วสูงสุด 152 กิโลเมตรต่อชั้วโมง ระยะบินไกลสุด 2,211 กิโลเมตร รัศมีปฏิบัติการ 367 กิโลเมตร ติดอาวุธปืนกลอากาศและอาวุธปล่อย

คุณลักษณะที่สำคัญของ บ.จ. 5 หรือ OV – 10 คือมีความคล่องตัวสูง มีวิสัยที่ดีเหมาะสมในการบินตรวจการณ์ หรือบินลาดตระเวน ประหยัดเชื้อเพลิงบินได้นาน ความเร็วไม่สูงนักจึงทำให้ใช้อาวุธเข้าโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ มีเกียรติประวัติการรบอย่างงดงาม จึงได้นำจัดแสดง ณ ที่นี้เพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทยานองค์ความรู้ภาคสนามสืบไป

ลานอนุสรณ์เครื่องบินเชียงเครือ

ในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ณ พื้นที่สนามบินเชียงเครือ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพอากาศ มอบพื้นที่สนามบินแห่งนี้คืนให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแก่ประชาชนชาวจังหวัดสกลนคร และภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนนับเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ของพื้นที่จากสนามรบเป็นสนามความรู้อย่างแท้จริง
เพื่อเป็นอนุสรณ์ทางด้านประวัติศาสตร์และเป็นอุทยานองค์ความรู้ภาคสนามแก่นิสิตนักศึกษา ประชาชน และอนุชนรุ่นหลัง กองทัพอากาศจึงได้มอบเครื่องบินโจมตีแบบที่ 5 (OV – 10 C”Bronco”) ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบหนึ่งที่เคยปฏิบัติการ ณ สนามบินแห่งนี้ ที่ปัจจุบันปลดประจำการแล้ว นำมาจัดแสดง ณ ลานอนุสรณ์เครื่องบินเชียงเครือ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดย รองศาสตราจารย์ วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ พลอากาศโท พิธพร กลิ่นเฟื่อง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายยุทธการผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ในนามของกองทัพอากาศ

สนามบินเชียงเครือ

สนามบินเชียงเครือสร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศ เมื่อปี พ.ศ. 2507 อยู่ในความดูแลของกองบิน 23 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการ กรมยุทธการทางอากาศ เพื่อใช้ประโยชน์ในสงครามเวียดนามและปราบปรามผู้ก่อการร้าย ในบริเวณเทือกเขาภูพานนับว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และความมั่นคงของประเทศชาติในอดีตเป็นอย่างยิ่ง
ที่ตั้งของสนามบินเชียงเครืออยู่ที่พิกัด ละติจูด 17˚17 เหนือ ลองจิจูด 140˚06 ตะวันออก ระดับความสูง 169 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,100 เมตร ระยะทางเผื่อทางวิ่งด้านละ 100 เมตร ทิศทาง 04/22 พื้นผิวแอลฟัลต์ รับน้ำหนักบรรทุกของเครื่องบินได้สูงสุด 20,190 กิโลกรัม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้อนุรักษ์พื้นที่สนามบินไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ และใช้ทางวิ่งเดิมเป็นถนนสายหลักของวิทยาเขตฯ (ถนนหมายเลข 2 เหนือ ใต้) ความกว่าง 10 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 5 เมตร พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ปลูกประดับสองข้างทางด้วยต้นตาลฟ้า และยังคงอนุรักษ์ส่วนของลานจอดเครื่องบินและหอบังคับการบินไว้โดยพัฒนาเป็นอุทยานสนามบินเพื่อเป็นอนุสรณ์สืบไป

แชร์ :

ข้อมูลผู้เขียน